ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
|||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
มาตรา 1676 พินัยกรรมจะทำขึ้นโดยให้บุคคลใดตกอยู่ในภาระติดพันที่จะต้องก่อตั้งมูลนิธิ หรือจะสั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรง เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งตามบทบัญญัติมาตรา ๑๑๐ แห่งประมวลกฎหมายนี้ก็ได้
|
|||||||||
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1887/2559 ส่วนข้อความในพินัยกรรมที่ว่า หากการใดไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะมีข้อจำกัด หรือข้อห้ามของกฎหมาย ให้ผู้จัดการมรดกร่วมกันพิจารณาหาวิธีดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมมากที่สุดเท่าที่กระทำได้ เป็นข้อกำหนดที่ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ มิใช่เป็นการให้ผู้จัดการมรดกหาวิธีดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ตายโดยการตั้งมูลนิธิ ทั้งในพินัยกรรมไม่มีข้อกำหนดที่ทำขึ้นโดยให้บุคคลใดตกอยู่ในภาระติดพันที่จะก่อตั้งมูลนิธิได้ และมิใช่จะสั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1676 ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (3)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1007/2518 ข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับการก่อตั้งมูลนิธิมีว่า'โฉนดที่ดินหมายเลขที่ 6483 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอตลิ่งชันจังหวัดธนบุรี เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 35 วา ขอมอบให้เป็นมูลนิธิมงคลรักสำรวจ' เช่นนี้ พินัยกรรมดังกล่าวมิได้ระบุข้อความเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิมงคลรักสำรวจ ไว้ ย่อมทำให้มูลนิธิมงคล รักสำรวจ ไม่สามารถจัดตั้งขึ้นได้ ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวจึงหาใช่เป็นข้อกำหนดพินัยกรรมที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1676 ไม่เพราะมิได้ระบุให้บุคคลใดตกอยู่ในภาระติดพันที่จะก่อตั้งมูลนิธิเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งมิได้มีการสั่งให้จัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 81 ข้อกำหนดพินัยกรรมของนายมงคลที่ว่าขอมอบที่ดินให้เป็นมูลนิธิมงคล รักสำรวจจึงไม่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ที่ดินโฉนดที่ 6483 จึงตกทอดแก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทลำดับ 3 ของเจ้ามรดกแต่เพียงคนเดียวตามมาตรา 1699เพราะโจทก์ที่1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับสูงกว่าซึ่งเหลืออยู่เพียงผู้เดียวได้สละมรดกแล้ว กรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินจำเลยจึงต้องรับจดทะเบียนโอนแก้ทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เป็นของโจทก์ที่ 2
|